ในระหว่างวันที่ 20 – 21 ธันวาคม 2565 ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมเป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายนักวิจัย ณ จังหวัดชลบุรี มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมเดินทาง รวม 34 คน โดยมีการบรรยาย หัวข้อ นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดย นายสุรไกร นวลศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรี และศึกษาดูงานแนวทางการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตำบลบางพระ เพื่อนำมารวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำเป็นหัวข้อวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา และพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการเสวนา หัวข้อ ทิศทาง ความคาดหวังของงานวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรม “How to ? วิจัยอย่างไร ให้ใช้ประโยชน์ได้จริง” การจัดสรรทุน และการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดย รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ รศ.ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยวิทยากรได้นำเสนอข้อมูลแนวทาง และกระบวนการในการจัดทำข้อเสนองานวิจัยของ สกสว. รวมถึงการจัดสรรทุนวิจัยเพื่อการวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยจะได้มีการนัดหมายเพื่อหารือระหว่าง สกสว และ สกธ. ในโอกาสต่อไป
ในส่วนการนำเสนอข้อเสนอการวิจัยของกระทรวงยุติธรรมประกอบการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2568 ขอหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีทั้งข้อเสนองานวิจัยในลักษณะของชุดโครงการ และโครงการวิจัยเดี่ยว เสนอโครงการ “การยกระดับดัชนีนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : กระบวนการก่อนพิจารณาคดี” ซึ่งประกอบด้วย 6 โครงการย่อย ได้แก่
1. โครงการยกระดับมาตรฐานในกระบวนการสืบสวน สอบสวน และการฟ้องร้องคดี
2. โครงการพัฒนามาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์เพื่องานสอบสวนคดีอาญา
3. โครงการศึกษามาตฐานการสั่งฟ้องคดีอาญา : การถ่วงดุลอำนาจระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ
4. โครงการศึกษา แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปร่วมชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรา 148 และ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2550
5. โครงการพัฒนากระบวนการสืบสวนคดีพิเศษหรือคดีที่มีความซ้ำซ้อน
6. โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านกระบวนการยุติธรรม
ผลจากการประชุมในครั้งนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิจัยในกระบวนการยุติธรรมแนวทางในการดำเนินการจัดทำข้อเสนองานวิจัยเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ จาก สกสว. และข้อเสนอโครงการวิจัย และชุด/หัวข้อการวิจัยของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเตรียมไว้สำหรับการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรม เพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2568 ต่อไป