เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ อาคารรัฐสภา ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาติดตามการเสนอและบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อพิจารณาติดตามความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. โดยมีนายนิกร จำนง เป็นประธานการประชุม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ เป็นการกำหนดวิธีพิจารณาคดีจราจรเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจร จะมีการออกใบนัดให้ไปศาล ซึ่งจะมีขั้นตอนการตรวจคำฟ้อง หากประทับฟ้องและไม่มาศาล จะมีการออกหมายเรียก และสามารถออกหมายจับได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มีความซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และการที่กำหนดนิยามคดีจราจรไว้ มีการกระจายไปอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งจะมีปัญหาในการบังคับใช้ อีกทั้งวิธีพิจารณาคดีที่กำหนดขึ้นยังไม่สอดคล้องกับหลักการดำเนินคดีตามปกติ ที่ต้องมีการออกใบนัดและไปขึ้นศาล ซึ่งขัดแย้งกับความพยายามที่จะลดคดีขึ้นสู่ศาล รวมทั้งอาจเกิดความไม่คุ้มค่า และสร้างภาระที่จะเกิดแก่ภาครัฐ (บุคลากรและงบประมาณ) และประชาชน
ฝ่ายที่เห็นด้วย เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ จะทำให้ประชาชนเคารพกฎจราจรมากขึ้น จะมีความเกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก หลักการสำคัญ คือ ผู้กระทำผิดบนท้องถนนต้องถูกลงโทษด้วยความรวดเร็ว และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
ซึ่งสำนักงานกิจการยุติธรรม มีความเห็นว่า ต้องมีการสร้างสมดุลระหว่างการปรับพฤติกรรมของบุคคลและการสร้างภาระ และการมีกฎหมายนี้จะสวนทางกับหลักการหันเหคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายบนท้องถนนเป็นการเฉพาะ โดยควรคำนึงถึงการที่ผู้กระทำผิดจะต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวด้วย จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนและมีการวางมาตรการอย่างรอบคอบต่อไป