เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30 น. สำนักงานกิจการยุติธรรมได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาระบบการบังคับคดีเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพย์ค้างการขายทอดตลาด ครั้งที่ 1/2566 โดยวิธีประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings โดยมี พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วยนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นอนุกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอนุกรรมการ โดยมีนายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบังคับคดีเพื่อแก้ไขปัญหาทรัพย์ค้างการขายทอดตลาด ทั้ง 4 ต้นแบบ และแต่งตั้งคณะทำงานตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ ดังนี้
1.ต้นแบบที่ 1 การนำทรัพย์ที่นายประกันนำมาวางเป็นหลักประกันที่ขายทอดตลาดไม่ได้มาพัฒนาใช้ประโยชน์ โดยให้ใช้แนวทางตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 336 และ ป.วิอาญา มาตรา 119 และทรัพย์ที่นายประกันนำมาวางเป็นหลักประกันควรเป็นทรัพย์ที่คดีอาญานั้นขาดอายุความแล้ว ทั้งนี้ ให้ทดลองนำร่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชลบุรี
2. ต้นแบบที่ 2 การดำเนินโครงการนำร่องการไกล่เกลี่ยหนี้สินที่ดินเกษตรกรหรือหนี้สินที่เป็นที่ดินที่สามารถพัฒนาเพื่อการเกษตรร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ดำเนินการทดลองนำร่องในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดอุทัยธานี โดยให้คำนึงถึงความคุ้มทุนที่ได้จากการพัฒนาที่ดินเกษตรกรทั้งนี้ ให้เพิ่มธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
3. ต้นแบบที่ 3 การดำเนินโครงการนำร่องเรื่องการนำห้องชุดร้างหรือห้องชุดด้อยมูลค่ามาเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้ทดลองนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตดอนเมือง กับจังหวัดปทุมธานี (ธัญญบุรี) โดย บจธ.สามารถสนับสนุนสินเชื่อและงบอุดหนุนต่อครัวเรือนได้ ทรัพย์(คอนโด) ต้องรวมอยู่แห่งเดียวกัน และควรกำหนดระยะเวลาการเข้าอยู่อาศัยให้ชัดเจน
4.การนำทรัพย์ที่อาจสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดมูลค่ามาใช้ประโยชน์เพื่อใช้หนี้ โดยใช้กลไกของสถาบันบริหารจัดการที่ดินร่วม ให้ดำเนินการทดลองนำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดขอนแก่น