การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ครั้งที่ 1/2566

200366

วันที่ 20 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุม และมี พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นอนุกรรมการ และนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นอนุกรรมการเเละเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ โดยการประชุมทางไกล(Video Conference)

.
ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานและความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่
1) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 2) ร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. 3) การเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 4) การพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย 5) การประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านเครื่องมือการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย (LEI) 6) การเสริมสร้างการรับรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ 7) แนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพย์ค้างการขายทอดตลาด
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ใน 4 ประเด็น โดยมีมติดังนี้
– เห็นชอบให้มีการเพิ่มเติมองค์กอบของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ โดยเพิ่มองค์กรสื่อสารมวลชน และผู้แทนภาคประชาชน และขอให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาทบทวนหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน เพื่อลดจำนวนผู้แทน พร้อมทั้งพิจารณามาตราอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน
– การกำหนดอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมควรคำนึงถึงคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับนโยบายเป็นหลัก หากต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่ สามารถเพิ่มเติมหรือขยายความตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 ได้หรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติ ควรต้องไปเพิ่มเติมในมาตรา 16
– ที่ประชุมมีมติว่าการเพิ่มเติมหน้าที่สำนักงานกิจการยุติธรรมตามมาตรา 16 ในเรื่องการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม และรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผลโครงการภายใต้แผนแม่บท สามารถไปเพิ่มเติมในมาตรา 16 (1) หรือ (3) ได้
– ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยในหลักการที่ปรับระยะเวลาของแผนแม่บทจาก 4 ปี เป็น 5 ปี อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนระดับชาติ และวาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย
.
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะได้นำข้อสังเกตไปแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 เสนออนุกรรมการให้ความเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติต่อไป
279 Views