เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้รับมอบหมายจาก นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 3/2566 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ช่วยศาตราจารย์นิตยา สำเร็จผล รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท กฤษณพงค์ พูตระกูล รองศาตราจารย์ พันตำรวจเอก วรธัช วิชชุวาณิชย์ ผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมประชุม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมการจำนวน 28 คน โดยที่ประชุมร่วมพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้
1. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญข้อเสนอการวิจัยของกระทรวงยุติธรรมประกอบการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิและฝ่ายเลขานุการ โดยมีข้อเสนอการวิจัย ประกอบด้วย 1 ชุดโครงการวิจัย และ 5 โครงการวิจัยเดี่ยว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,669,400 บาท ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ดังนี้
1) ยื่นขอเป็นหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมในรอบที่ สกสว. กำหนด และจัดส่งข้อเสนอการวิจัยเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2569 2) เสนอของบประมาณผ่าน สกธ. โดยให้ สกธ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการวิจัย โดยร่วมกับหน่วยงาน
2. มีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลงานวิจัยของกระทรวงยุติธรรม ดังนี้
1) กำหนดหัวข้อการวิจัยของแต่ละหน่วยงาน (Agenda Management) 2) ประเมินคุณภาพของงานวิจัยตามมาตรฐานการวิจัย (Quality Management) 3) ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม (Progress Management) 4) ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization Management) 5) การบริหารจัดการงานวิจัย (Research Management)
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้นำเสนอปัญหาการบริหารจัดการวิจัย ที่มีข้อจำกัดจากหน่วยงานรับทุนในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานวิจัย ดังนั้น จึงได้นำเสนอการผลักดันให้ สกธ. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุน (PMU) ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยของกระบวนการยุติธรรม ด้านการพัฒนาบุคลากร ร่วมทั้งด้านการบริหารจัดการงานวิจัย ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยิ่งขึ้น