การประชุมคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 1/2566

Pic for web 09 2023 1

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนางศิริเนตร กล้าหาญ รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 1/2566 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Webex Cisco โดยมีนายชาตรี จันทร์เพ็ญ รอง ผอ.สกธ. พร้อมกับเจ้าหน้าที่ ก.พ.ร. เข้าร่วมการประชุม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีประธาน ค.ต.ป. ประจำ ยธ. ผู้แทนส่วนราชการใน ยธ. ผอ.องค์การมหาชนภายใต้การกำกับ รมว.ยธ. ผู้แทนกลุ่ม ป.ย.ป.ยธ. สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สภาพัฒน์ เป็นกรรมการ และ ก.พ.ร.ยธ. เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งวาระการพิจารณาหลักเป็นเรื่องการกำหนดตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการระดับกระทรวง และระดับหน่วยงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยสามารถสรุปประเด็นหลักๆ ได้ ดังนี้

1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีกรอบแนวทางในการจัดทำตัวชี้วัดฯ 2 องค์ประกอบ คือ PerformanceBase (การประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน) และ Potential Base (การประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน) โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณารายละเอียดตัวชี้วัด Performance Base

2. ตัวชี้วัด Strategic KPIs : SKPIs ของ ยธ. ประกอบด้วย 10 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ตัวชี้วัดที่ถ่ายทอดมาจากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 4 ตัวชี้วัด และตัวชี้วัดตามภารกิจ ยธ. จำนวน 6 ตัวชี้วัด โดยรองเลขาธิการสำนักงาน ก.พ.ร. ได้มีข้อสังเกตให้มีการถ่ายทอดตัวชี้วัด 1 ในตัวชี้วัด SKPIs ของ ยธ. ลงสู่ระดับหน่วยงาน ในลักษณะ Joint KPIs คือ ตัวชี้วัดเรื่องค่าเฉลี่ยในทุกมิติของระดับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง สกธ. ได้มีการชี้แจงเรื่องภารกิจของ สกธ. ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักไม่ใช่ประชาชนโดยตรง ทำให้เรื่องการกำหนดนิยามในการประเมินอาจต้องมีการพิจารณาปรับตามความเหมาะสมของภารกิจหน่วยงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการถ่ายทอดตัวชี้วัดดังกล่าวลงสู่ระดับหน่วยงาน โดยให้มีการหารือเรื่องการกำหนดขอบเขต ประเด็นในการประเมินต่อไป

3. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ส่วนราชการภายใน ยธ. มีการเสนอตัวชี้วัดตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพฯ เป็นตัวชี้วัดระดับหน่วยงาน จำนวนรวมทั้งสิ้น 44 ตัวชี้วัด โดย สกธ. ได้รับการประเมิน 4 ตัวชี้วัด ได้แก่

– ระดับความสำเร็จในการผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

– ระดับความสำเร็จในการขับเคลื่อนการใช้งาน application พยากรณ์สถานการณ์อาชญากรรม

– ระดับความสำเร็จในการขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพย์ค้างการขายทอดตลาดโดยนำมาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

– ระดับความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมในระดับพื้นที่ผ่านคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด

ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการกำหนดประเมินตัวชี้วัดข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สกธ. จะได้มีการดำเนินการหารือผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดรายละเอียดตัวชี้วัดเรื่องการประเมินความเชื่อมั่นของกลุ่มเป้าหมายต่อกระบวนการยุติธรรมของ สกธ. และปรับค่าน้ำหนักของตัวชี้วัด Performance Base ในภาพรวมและรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

60 Views