เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 เวลา 9.00 น. นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง : โครงการวิจัยกระบวนการยุติธรรมกับการจัดการภาวะวิกฤติเพื่อสร้างความยุติธรรมถ้วนหน้าและเท่าเทียม ครั้งที่ 2 การประชุมมีเป้าหมายเพื่อพิจารณาผลการดำเนินการศึกษาแนวทางการนำเสนอการวิเคราะห์ตัวแปรและข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในภาวะวิกฤติ รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ และอภิปรายผลการดำเนินงานของกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ภายใต้การกำกับของสำนักงานกิจการยุติธรรม โดยมีการอภิปรายผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยประกอบไปด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
1) การอภิปรายผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยกิจกรรมการจัดเก็บและวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหาและ / หรือเหยื่ออาชญากรรมที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในชั้นการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย ร.ต.อ. ธนาวุฒิ อุ่นเรือน จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ ดร.กุลสุรัตน์ ม่วงทอง จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2) การอภิปรายผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยกิจกรรมการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดหลังคำพิพากษาที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดพัฒนาพฤตินิสัยของกระทรวงยุติธรรม โดย นายณรัฐ ใจตุ้ย คณะวิจัยของ ดร. ธันยพร สุนทรธรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สรุปอภิปรายผลการดำเนินงานโครงการวิจัย
1) การจัดเก็บและวิเคราะห์ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหาและ / หรือเหยื่ออาชญากรรมที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในชั้นการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรเพิ่มเติมและศึกษาพยากรณ์ในช่วงภาวะวิกฤติถึงปริมาณคดีอาชญากรรมที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนและสร้างวัฒนธรรมการป้องกันที่เรียกว่า “Preventive Culture”
2) ข้อเสนอแนะอันนำไปสู่การออกแบบนโยบายและปัจจัยซึ่งมีผลต่อการเกิดอาชญากรรม ทั้งปัจจัยในภาวะวิกฤติ และปัจจัยในสภาวะปกติ อันจะนำไปสู่การพัฒนากลไกทางกระบวนการยุติธรรมในอนาคตรวมถึงการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
3) ผลักดันงานวิจัยไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวมของกระบวนการทำงานพฤตินิสัย เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อสังคม
ทั้งนี้ คณะวิจัยและผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวทางการพยากรณ์พฤติกรรมความผิดและประเภทของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นภายหลังภาวะวิกฤติ เพื่อให้คณะวิจัยได้นำข้อมูลที่ได้จากการประชุมฯ ครั้งนี้ ไปดำเนินการในการจัดทำผลการศึกษาวิจัยต่อไป