เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น. สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้ดำเนินการจัดประชุมคณะทำงานย่อย ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือภาวะวิกฤตจากโรคระบาดในสถานที่ควบคุม/คุมขัง โครงการย่อยที่ 1 การพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขัง ในประเทศไทย เพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาด ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม 1 (JA1) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยคณะทำงานย่อย ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือภาวะวิกฤตจากโรคระบาดในสถานที่ควบคุม/คุมขัง ของสำนักงานกิจการยุติธรรม และผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภายนอกคณะทำงาน ได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และคณะวิจัยจากภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จำนวนทั้งสิ้น 33 คน โดยมีสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมคณะทำงานย่อยฯ โดยเน้นความสำคัญของการเปิดโอกาสให้คณะทำงาน และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมวิเคราะห์ กำหนดแนวทาง และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขัง ในประเทศไทย เพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาด เพื่อศึกษา และทบทวนมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขัง รูปแบบในประเทศไทย และต่างประเทศ และสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขัง ประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น โดยเฉพาะเรือนจำ ทัณฑสถาน และเพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นจากโครงการฯ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในรูปแบบของการกำหนดนโยบาย และการพัฒนาการปฏิบัติงานของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม
2. คณะวิจัยได้นำเสนอแผนปฏิบัติการ ทฤษฎี และแนวคิดในการออกแบบวิเคราะห์พื้นที่ใช้สอยหลักในสถานที่ควบคุม/คุมขัง ที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในเรือนจำ เพื่อการควบคุมโรคระบาด ที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทาง เพื่อการผลักดันมาตรฐานการออกแบบทางสถาปัตยกรรมภายใน ส่องห้องกักโรค พื้นที่สำหรับเฝ้าระวังการติดเชื้อของเรือนจำ รวมถึงแนวทางในการออกแบบส่วนห้องกักโรค พื้นที่สำหรับเฝ้าระวังการติดเชื้อที่สามารถปรับใช้ได้กับเรือนจำในประเทศไทย
3. ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
(1) นโยบาย และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเรือนจำ และการจัดการโรคระบาดในเรือนจำ ทั้งในส่วนของกระทรวงยุติธรรม และสาธารณสุข
(2) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการควบคุม และจัดการโรคระบาดต่าง ๆ ในเรือนจำ
(3) ขั้นตอนการปฏิบัติในการรับตัวผู้ต้องขังเข้าสู่เรือนจำในสถานการณ์ปกติ และกรณีเกิดโรคระบาด
(4) พื้นที่ใช้งานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของเรือนจำสำหรับการดูแลผู้ต้องขังแรกรับ และผู้ต้องขังทั่วไป
(5) ขั้นตอนในการดูแลผู้ต้องขัง ทั้งในกรณีผู้ต้องขังติดเชื้อ และผู้ต้องขังทั่วไป กรณีเกิดสถานการณ์โรคระบาด
(6) ข้อเสนอแนะอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อโครงการวิจัย เช่น กิจกรรมต่าง ๆ ของเรือนจำ ระบบสุขาภิบาล และระบายอากาศของสถานที่ควบคุม/คุมขัง และข้อแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ที่คณะผู้วิจัยควรเข้าไปจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น
4. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้คณะวิจัยดำเนินการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
(1) ด้านสาธารณสุข
(2) ด้านการปฏิบัติการ/การควบคุม/การรักษาความปลอดภัย
(3) ด้านนโยบาย
(4) ด้านกฎหมาย
(5) ด้านสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับการออกแบบภายใน
(6) ด้านสภาพแวดล้อม และ
(7) ด้านการแพทย์
โดยประสานคณะทำงาน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้นำมาเสนอความก้าวหน้าของโครงการในการประชุมคณะทำงานย่อยครั้งต่อไป