เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนา “การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทย แบบทำน้อยได้มากและเห็นผลเร็ว” ณ ห้อง 211 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยกิจกรรมการสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่
1. เรื่อง “Citizen Oriented ปฏิรูปตำรวจด้วยการกำหนดให้เป้าหมายในการปฏิบัติงานคือประชาชน : ตัวอย่างจากตำรวจเยอรมัน” โดย Manfred Gigl ผู้บัญชาการโรงเรียนตำรวจแคว้นบาวาเรียแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการฝึกอบรมตำรวจของแคว้นบาวาเรียในโมดูลต่าง ๆ หลักสูตรเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัย พร้อมช่วยเหลือประชาชน โดยนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จะต้องผ่านหลักสูตร การฝึกอบรมความรู้ในด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การมีภาวะผู้นำการทำงานเป็นทีมระหว่างหน่วยงาน การเรียนรู้ยุทธวิธีในการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรม รวมถึงการเรียนรู้อุปนิสัย และวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน
2. เรื่อง “การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทย แบบทำน้อยได้มากและเห็นผลเร็ว” โดยมี รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมสัมมนา
พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนา การบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566-2569) โดยมีเป้าหมายการสร้างความร่วมมือในการบริหารงาน เพื่ออำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อน สนับสนุน ให้กระบวนการยุติธรรมมีกลไกการบูรณาการตรวจสอบ และประเมินผลได้ อีกทั้ง ยังมีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 (Sustainable Development Goal 16) และยกระดับตัวชี้วัดหลักนิติธรรมของประเทศไทย (Rule of Law Index) ของ World Justice Project และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม และการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ผ่านระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (DXC) และแอปพลิเคชัน Safe Points