รมว. ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะทํางานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 1/2567

Picforweb

วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.30 น. พันตํารวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะทํางานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ในฐานะที่ปรึกษา พันตํารวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะรองประธาน พร้อมด้วยนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม คณาจารย์และนักวิชาการ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ หน่วยงานผู้สนับสนุนทุนวิจัย และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ณ ห้องประชุม 10 – 06 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม และรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings โดยที่ประชุมได้รับทราบองค์ประกอบคณะทํางานฯ (เพิ่มเติม) และแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้​

1. การก้าวข้ามความขัดแย้งรุนแรงด้วยแนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) การเยียวยา การนิรโทษกรรม การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. การแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยแนวคิดการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) และใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก (Alternative Justice)

3. การสร้างความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน และลดการคอร์รัปชันในระบบยุติธรรม โดยใช้ Rule of Law Index ของ World Justice Project (WJP) และ People-Centered Justice

4. กระบวนการยุติธรรมกับการจัดการทรัพยากรที่เป็นธรรม : กรณีการนิรโทษกรรมและเยียวยาประชาชน กรณีรัฐผิดพลาดในเรื่องที่ดินและป่าไม้ รวมทั้งรัฐประกาศแนวเขตทับที่ดินของประชาชนและดําเนินคดีประชาชน จากนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการส่งต่อประเด็นจากคณะทํางานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อนําไปสู่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านยุติธรรม ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) รวมถึงข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับ 4 ประเด็นหลัก เพื่อพิจารณาแนวทางในการพิจารณาข้อค้นพบ/ข้อเสนอแนะจากโครงการวิจัยฯ และผลักดันไปสู่การปฏิบัติต่อไป

99 Views