วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือความเห็นและข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. พร้อมด้วย นายชาตรี จันทร์เพ็ญ รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมพระธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม 1 ซึ่งที่ประชุมได้ชี้แจงความเป็นมาของการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติฯ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และได้พิจารณาและมีมติ ในแต่ละประเด็น ดังนี้
ที่ประชุมมีมติรับทราบเรื่องรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฯ มอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรมรับร่างพระราชบัญญัติฯ ไปพิจารณาร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีข้อสังเกต เพื่อให้ได้ข้อยุติตามประเด็นที่หน่วยงานมีความเห็นและข้อสังเกตก่อนเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
ที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. โดยมีข้อสังเกต ดังนี้
(1) คำนิยามประวัติอาชญากรรมกว้างเกินไปทำให้ครอบคลุมคดีอาญาทุกประเภท
(2) ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการที่ศาลจะมีคำพิพากษา จะมีกระบวนการรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดมีประวัติอาชญากรรมอยู่แล้ว
(3) ควรมีการเพิ่มเติมสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้แทนในคณะกรรมการบริหารจัดการข้อมูลประวัติอาชญากรรมด้วย
(4) ควรมีการเชื่อมโยงถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. …. ด้วย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงมีประเด็นข้อสังเกตว่าปัจจุบันได้มีการออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 แล้ว และมีการปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรมครั้งใหญ่ ประกอบกับได้มีการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแล้ว หากร่างพระราชบัญญัติฯ นี้มีผลใช้บังคับ อาจกระทบกับภารกิจของตำรวจ
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะได้รายงานผลการประชุม และเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมต่อไป