วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 เวลา 15.30 น. นางขัตติยา รัตนดิลก เป็นผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมต่อเนื่องของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างรัฐบาล (Open-ended Intergovernmental Expert Group) เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการลดการกระทำความผิดซ้ำ ร่วมกับกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงยุติธรรม ในรูปแบบทางไกล ระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2567
การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ต้นแบบว่าด้วยการลดการกระทำความผิดซ้ำ ตามข้อมติสหประชาชาติ (UNGA) ที่ 77/232 เรื่อง การลดการกระทำความผิดซ้ำผ่านการบำบัดฟื้นฟู และการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำความผิด (Reducing reoffending through rehabilitation and reintegration) โดยมีสาระสำคัญเพื่อดำเนินการทบทวน และให้ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ต้นแบบเพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำ (Model Strategies on Reducing Offending) ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ต้นแบบ 18 ต้นแบบ (models) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานสากลต่าง ๆ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ได้แก่ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (The UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners/The Nelson Mandela Rules) ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ ว่าด้วยการไม่ควบคุมตัว (The UN Standard for Non-Custodial Measures / The Tokyo Rules) และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การควบคุมตัวสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (The UN Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measure for Women Offenders / The Bangkok Rules) ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1) แนวทางการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดรายบุคคล (Individualize Approaches)
2) การบำบัดพัฒนาพฤตินิสัยในชุมชน และมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง (Rehabilitation on the Community and Non-Custodial Measures)
3) การบำบัดพัฒนาพฤตินิสัยและการสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมในสถานที่ควบคุม/คุมขัง (Rehabilitation and Social Reintegration Support in Correctional Facilities)
4) การแก้ไขสาเหตุของการกระทำความผิดซ้ำ (Addressing the Causes of Offending)
5) การวิจัย และการประเมินผล (Research and Evaluation)