วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. สถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้มีการจัดการประชุมคณะทำงานย่อยชุดโครงการชุดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรับมือภาวะวิกฤติจากโรคระบาดในสถานที่ควบคุม/คุมขัง โครงการย่อยที่ 2 การออกแบบและก่อสร้าง สถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 1 (JA1)
การประชุมคณะทำงานย่อยที่จัดขึ้นในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการจัดเก็บข้อมูลและต่อยอดผลการดำเนินงานจากการประชุมคณะทำงานย่อย ครั้งที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา รวมถึงเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาโครงการวิจัยฯถึงสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะทำงานในสังกัดสำนักงานกิจการยุติธรรม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญลักษณ์ นามจักร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะทีมวิจัยนำเสนอความคืบหน้าผลการดำเนินงานโครงการวิจัยฯ และร่วมรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและได้แนวทางอันเป็นประโยชน์ต่องานวิจัย
สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
1.กรณีศึกษาตัวอย่างที่ดี (best practices) 4 สถานที่ ซึ่งมีความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ ระหว่างผู้คุม และผู้อยู่อาศัย สถานการณ์ปัจจุบัน และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษของประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับประเทศไทย
2.แนวคิดการฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมโดยเพิ่มทักษะทางสังคม ทักษะด้านอาชีพ และการบำบัดจิตใจ จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวัง 3 ระดับ ได้แก่
(1) กลุ่มสีแดง ระดับผู้ป่วยจิตเวชซึ่งอยู่ในระดับที่ผู้คนในสังคมมีความหวาดระแวง – หวาดกลัวจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้น มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาอย่างต่อเนื่อง
(2) กลุ่มสีเหลือง ระดับที่สังคมหวาดระแวงแต่ยังสามารถให้โอกาสโดยอาศัยการสร้างกฎการอยู่ร่วมกัน สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นเรือนจำ
(3) กลุ่มสีเขียว ระดับที่สังคมไม่ติดใจสงสัยมีความเป็นอิสระสูง โดยมีการกำหนดกฎระเบียบบางประการเพื่อความปลอดภัยของสังคม
3.ข้อเสนอแนะด้านความปลอดภัยเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มบุคคลรวมถึงปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อเป็นนโยบายในการจัดทำการออกแบบและก่อสร้างสถานที่สำหรับควบคุม / คุมขังภายหลังพ้นโทษเพื่อประกอบการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยแบ่งออกเป็น
(1) รูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ทันที
(2) รูปแบบผลลัพธ์ที่เหมาะสมในการดำเนินการระยะยาว เพื่อประกอบการตัดสินใจดำเนินการตามนโยบายได้ทันท่วงทีต่อบุคคลสภาวะสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
โดยที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตแก่คณะทีมวิจัย รวมถึงประเด็นข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานให้มีความชัดเจน ครอบคลุมถึงข้อกำหนดและขอบเขตงาน เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการรายงานผลลัพธ์การศึกษาโครงการวิจัยฯ รวมถึงพิจารณาแนวทางการจัดการประชุมวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัย และแนวทางการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติต่อไป