วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม มอบหมายให้ นายชาตรี จันทร์เพ็ญ รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นการปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บท การบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) พร้อมด้วย นายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม คณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตัวแทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) และโครงการสำคัญ มีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) ให้สอดรับต่อนโยบายด้านการบริหารและพัฒนากระบวนการยุติธรรม รวมถึงสาระสำคัญ ระยะเวลาการบังคับใช้ และเพื่อเป็นกรอบแนวทางการบริหารและพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกิจการยุติธรรมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน เป็นหัวหน้าโครงการ
ในการประชุมฯ มีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและร่วมหารือในประเด็นสำคัญ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ประเด็นสำคัญในแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569)
– ประเด็นใดที่สามารถดำเนินการได้ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคม และประเด็นใดที่ยังประสบปัญหาหรือมีข้อจำกัด
– ประเด็นใดที่ควรให้ความสำคัญสำหรับ “กระบวนการยุติธรรม” และ “การบริหารงานยุติธรรม” ของไทย และอะไรคือเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการดำเนินงาน
ส่วนที่ 2 การขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569)
– แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และได้รับความสำคัญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด
– ควรมีแนวทางอย่างไรในการผลักดันให้แต่ละหน่วยงานเห็นความสำคัญในการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท
ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อการปรับปรุงและพัฒนาแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569)
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การทำงานเชิงรุกของหน่วยงานภาครัฐ การทราบถึงสิทธิและการเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชน และการแก้ไขและพัฒนากฎหมาย เป็นต้น