วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมวิพากษ์ผลการสำรวจสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน ปี พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม2 (JA2) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมประชุม ทาง onsite และทาง online ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings
การสำรวจสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน ปี พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมที่ไม่ได้มีการแจ้งความ หรือไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (Dark Figure of Crime) และข้อมูลสถานการณ์อาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันอาชญากรรม ตลอดจนนำไปประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์ความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 (Sustainable Development Goal : SDG 16) ในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
จากการสำรวจดังกล่าว พบข้อมูลสำคัญ อาทิ การฉ้อโกงหลอกลวง เกิดขึ้นสูงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยพบเหตุที่เหยื่อเสียหาย มากกว่า 100,000 บาท ถึง 27 ครั้ง และมีความเสียหายสูงสุดถึง 800,000 บาท เป็นกรณีหลอกให้ลงทุน, เหตุความรุนแรง ทางร่างกาย และการลักทรัพย์ในเคหะสถาน มีหลายกรณีที่ผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยทางจิต, มีการแจ้งเหตุอาชญากรรมต่อเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 59.37 แต่พบว่ามีเพียงความผิดด้านร่างกาย และความผิดต่อทรัพย์ที่มีอัตราการแจ้งเหตุมากกว่าไม่แจ้งเหตุ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีข้อคิดเห็นและเสนอแนะสำคัญในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสำรวจสถิติอาชญากรรมภาคประชาชน มีประโยชน์และความสำคัญซึ่งทำให้เห็นพฤติการณ์คดี มุมมองจากเหยื่ออาชญากรรมโดยตรง ที่ไม่สามารถวัดได้จากระบบสถิติอาชญากรรมทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, ควรมีการพัฒนาแบบสอบถามเพิ่มเติมถึงกระบวนการเยียวยาที่เหยื่ออาชญากรรมใช้บริการ เพื่อสำรวจประสิทธิภาพกระบวนการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม, การสำรวจเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 บางข้อคำถามควรมีการปรับปรุงแบบสอบถามเพื่อให้ตรงกับคำนิยามของตัวชี้วัดมากขึ้น และสามารถนำไปเปรียบเทียบในระดับสากลได้