วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. พันตํารวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมวิพากษ์ผลงานวิจัยในโครงการพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขังในประเทศไทยเพื่อรับมือกับวิกฤติโรคระบาด ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรับมือภาวะวิกฤติจากโรคระบาดในสถานที่ควบคุม/คุมขัง และเป็นการต่อยอดผลลัพธ์จากการประชุมคณะทำงานย่อยที่ผ่านมาณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจํานวน 47 คน
การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย และรับฟังความคิดเห็นเพื่อสรุปและรวบรวมผลการประชุมวิชาการและวิพากษ์ เพื่อจัดทําข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบผลการศึกษาวิจัยเพื่อเป็นแนวทางกําหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การดําเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทยให้สามารถนํางานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ และอภิปรายผลการดําเนินงานของกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ภายใต้การกํากับของสํานักงานกิจการยุติธรรม โดยมีการอภิปรายผลการดําเนินงานของโครงการวิจัยประกอบไปด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่
1) การอภิปรายผลการศึกษาวิจัย หัวข้อ “มาตรฐานการออกแบบสถานที่ควบคุม/คุมขัง ในประเทศไทยเพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาด : กรณีศึกษาเรือนจำกลางชลบุรี เรือนจำกลางนครปฐม และเรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานคร” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร มูรพันธุ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิยะรัตน์ นันทะ
2) การรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้เพื่อวิพากษ์ผลงานวิจัยในโครงการพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขังในประเทศไทยเพื่อรับมือกับวิกฤติโรคระบาด
โดยสามารถสรุปอภิปรายการวิพากษ์ผลงานวิจัยได้ดังนี้
1. จุดประสงค์การวิจัยดังกล่าวเป็นไปเพื่อศึกษาและทบทวนมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน ระเบียบ ข้อกฎหมาย และแนวปฏิบัติต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำกรอบแนวทางในการพัฒนาเพื่อออกแบบพัฒนาโครงสร้างที่จำเป็น และดำเนินการตามกรอบแนวทางแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดันมาตรฐานการออกแบบในการพัฒนาเพื่อยกระดับสู่สากล
2. มาตรฐานการออกแบบห้องกักโรคและพื้นที่สำหรับเฝ้าระวังการติดเชื้อในเรือนจำดำเนินการศึกษาตามกรอบแนวคิด HAAT หรือโมเดลเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในกิจกรรมของมนุษย์ (Human Activity Assistive Technology Model) ประกอบด้วยมิติ ด้าน 1) มนุษย์ (Human) 2) กิจกรรม (Activities) และ 3) เทคโนโลยีอำนวย ความสะดวก (Assistive Technology : AT) ในสัดส่วนที่เท่ากันซึ่งอยู่ภายใต้ 4) บริบท (Context)
3. ข้อเสนอแนะด้านความคุ้มค่าในการจัดสรรงบประมาณและความปลอดภัยในการควบคุมความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดตามสภาพพื้นที่ควบคุม/คุมขัง ตามแนวคิดการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนความเป็นมนุษย์ในการอาศัยสถานที่ที่ปลอดภัยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงการกักโรคจากการควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิ และการควบคุมปริมาณน้ำเสีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อไวรัสและเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการสร้างเรือนจำและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะวิจัยและผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางการพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขัง ในประเทศไทยเพื่อรับมือกับวิกฤติโรคระบาดเพื่อให้คณะวิจัยได้นําข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปดําเนินการในการจัดทําผลการศึกษาวิจัยเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อไป