สกธ. ร่วมประชุมพิจารณาการจัดทำร่างรายงานสภาวการณ์กระบวนการยุติธรรมไทย

page4

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2568 เวลา 9.30 น. นายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุมพิจารณาการจัดทำร่างรายงานสภาวการณ์กระบวนการยุติธรรมไทย ณ ห้องประชุม 10-06 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาร่างรายงานสภาวการณ์กระบวนการยุติธรรมไทย ที่ สกธ. ได้จัดทำขึ้นโดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เห็นควรให้กระทรวงยุติธรรมมีการจัดทำรายงานฯ ในลักษณะการจัดทำรายงานสภาวการณ์ทางสังคมของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบถึงสภาวการณ์กระบวนการยุติธรรมไทยที่เป็นปัจจุบันสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
1. ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการของการจัดทำรายงานสภาวการณ์กระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันในการนำไปพัฒนาการดำเนินงานหรือการกำหนดนโยบาย ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้ทราบถึงข้อมูลกระบวนการยุติธรรมที่เป็นประโยชน์
2. รายงานควรนำเสนอเฉพาะประเด็นสำคัญในช่วงระยะเวลานั้นๆ โดยเป็นข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ให้เห็นถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หรือประเด็นที่เป็นข้อค้นพบที่น่าสนใจ หรือปัญหาของประชาชนที่หน่วยงานควรเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ในลักษณะของการวิเคราะห์เชิงระบบนิเวศน์ (วิเคราะห์เชิงพัฒนาโดยใช้สถิติข้อมูลหลายชั้นประกอบ) ไม่ควรเป็นการรายงานสถิติข้อมูลผลการดำเนินงานที่งานประจำตามภารกิจ และควรนำเสนอเนื้อหาสั้น กระชับ
3. โครงร่างรายงาน อาจนำเสนอเนื้อหาเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
1) ความไม่เป็นธรรมของประชาชน หรือประเด็นที่หน่วยงานควรลงไปแก้ไข/ดูแล/ช่วยเหลือมากที่สุด โดยมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
2) ประเด็นปัญหาอาชญากรรมที่สำคัญ โดยนำข้อมูล Global Organized Crime Index มาเป็นกรอบในการนำเสนอข้อมูลในบริบทของประเทศไทย โดยมอบหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
3) การวิเคราะห์สถานการณ์อื่นๆ จากหน่วยงานกลุ่มพัฒนาพฤตินิสัย และกรมบังคับคดี
4) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาประเด็นข้างต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทบทวน ปรับปรุงเนื้อหาร่างรายงานตามประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โดยกำหนดให้ใช้ข้อมูลตามรอบปีปฏิทิน (พ.ศ. 2567) และจัดส่งให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ภายในวันที่ 17 ม.ค. 68 เพื่อนำไปปรับปรุงร่างรายงานฯ ต่อไป
66 Views