วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น. สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการนำเสนอผลงานทางวิชาการและผลงานการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยนางปัณณิตา สท้านไตรภพ เลขาธิการวุฒิสภา และพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ลงนามในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ โดยมี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายพีระพจน์ รัตนมาลี รองเลขาธิการวุฒิสภา และพันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ลงนามเป็นพยาน และมีผู้เข้าร่วมในพิธี ได้แก่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา นายสุทนต์ กล้าการขาย สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารของสำนักงานกิจการยุติธรรม ณ ห้องประชุมหมายเลข 402 – 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา
ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของสำนักงานกิจการยุติธรรม โดยมีการนำเสนอภารกิจและวิสัยทัศน์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ได้แก่ 1) การดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการฐานข้อมูลการบริหารงานยุติธรรม 2) การจัดทำสื่อความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สมุดภาพอินโฟกราฟิกกฎหมาย หนังสือในกฎหมายมีธรรม และบอร์ดเกมจับคนผิด Justice Game 3) การศึกษาวิจัยและนวัตกรรม เพื่อป้องแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำ และการพัฒนามาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ควบคุม/คุมขังในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 4) นวัตกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยของประชาชน แอปพลิเคชัน Safe Point และ 5) ภัยคุมคาม 12 ประเด็นที่ต้องแก้ไข โดยการศึกษาวิจัยอย่างเร่งด่วน อาทิ ภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน ภัยคุมคามปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด นำไปสู่การจัดกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2570 – 2575 เพื่อใช้กำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภา กล่าวชื่นชม สำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีนวัตกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมีเนื้อหาให้เข้าใจง่ายสำหรับเด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งควรนำไปกำหนดในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม และการนำเสนอประเด็นภัยคุมคามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โลกอุบัติเหตุ ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจะมีความร่วมมือกัน เพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป