วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.30 – 16.30 น. สำนักงานกิจการยุติธรรม จัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 22 ภายใต้หัวข้อ “ยุติธรรมกินได้” โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รองอัยการสูงสุด และพันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ให้การต้อนรับ และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ยุติธรรมกินได้ กับนโยบายรัฐบาล และ การขับเคลื่อน กพยช.” โดยมีใจความสำคัญในตอนหนึ่งว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้เปรียบเสมือนอาหารซึ่งเป็นปัจจัย 4 การให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเป็นแนวคิดที่สำคัญ มิใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัวแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การทำงานโดยต่างคนต่างทำ แม้ที่สุดแล้วจะนำมารวมกันในภายหลัง ก็มักจะมีปัญหาเพราะไม่สามารถดึงศักยภาพของแต่ละคน แต่ละหน่วยงานให้ออกมาร่วมกันแบบบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพได้ ความยุติธรรมเป็นพันธสัญญาที่ต้องแปลงเป็นรูปธรรม จากสิ่งที่จับต้องไม่ได้ นำไปสู่สิ่งที่จับต้องได้และเข้าถึงประชาชน ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เยียวยาประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่ซ้ำเติมประชาชน ทั้งนี้ Mind set เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องรวมทั้งเรื่องของความยุติธรรมนี้ด้วย
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายกระทรวงยุติธรรมเพื่อประชาชน” โดยมีใจความสำคัญในตอนหนึ่งว่า Justice is not just about law, it is about people ความยุติธรรมมิใช่เพียงแค่กฎหมายแต่ต้องหมายถึงประชาชน โดยที่กฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ มิใช่สิ่งที่มนุษย์ถูกกระทำโดยกฎหมาย การบริหารงานกระบวนการยุติธรรม ต้องมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ มีผลใชับังคับ และมีความรวดเร็ว โดยที่ความล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นการแก้ไขปัญหาความล่าช้าดังกล่าวได้ และประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพสถาบันตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ ศาล ให้มีความสะดวกรวดเร็วโดยใช้เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้บริหารจัดการ ทั้งนี้ การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด สังคมที่ขาดความรับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ หากไม่มีความรับผิดชอบแล้ว ย่อมนำไปสู่สังคมที่ล่มสลาย เพราะฉะนั้น เราต้องมีความรับผิดชอบ สร้างความสะดวก รวดเร็วในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายกระทรวงยุติธรรมเพื่อประชาชน” และศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุติธรรมกินได้ Justice For All” โดยมีใจความสำคัญในตอนหนึ่งว่าความยุติธรรมกินได้ มนุษย์ต้องมีปัจจัย ๔ อันมีอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ ความยุติธรรมย่อมมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และเราจะรู้ได้ต่อเมื่อประสบเรื่องราวกับตนเอง โดยอาจให้คำนิยามได้ 2 อย่าง คือ 1. กฎหมาย ซึ่งเป็นต้นทางที่จะทำให้มีความยุติธรรมตามมา หากมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพ 2. การบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยุติธรรมกินได้ หากประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม หรือขาดความยุติธรรมเมื่อไหร่ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนเมื่อนั้น
ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “เสิร์ฟประชาชนอย่างไร ให้ยุติธรรมกินได้” โดยมี ปลัดกระทรวงยุติธรรม ร่วมเสวนาในครั้งนี้ และ “JUST Talk” (งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับความยุติธรรม) ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ในกระบวนการยุติธรรมและเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเสวนาดังกล่าว รวมถึงการจัดนิทรรศการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี สถาบันอนุญาโตตุลาการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานกิจการยุติธรรม