วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 นางสาวอรวรรณ ปานคง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นำคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมศึกษาดูงาน “ด้านระบบการขนย้ายลำเลียงสินค้า และระบบตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายและยาเสพติด” ณ พื้นที่ชายแดน ด่านบ่อเต็น โดยได้รับเกียรติจากนายดาว กาลิคำ รองหัวหน้าภาษีประจำแขวงหลวงน้ำทา และนายคำล้า วิสีสมบัด รองหัวหน้าด่านภาษีบ่อเต็น เป็นวิทยากรบรรยายสรุป ดังนี้
ด่านบ่อเต็น เป็นประตูสู่เส้นทางโลจิสติกส์ยุทธศาสตร์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เนื่องจากเป็นจุดผ่านแดนสากลระหว่าง ลาว–จีน–ไทยที่ให้บริการตรวจสอบสินค้า รถบรรทุก และผู้โดยสารทั้งทางถนนและทางรถไฟ กล่าวถึงขั้นตอนศุลกากรมีความชัดเจน แบ่งเป็นกระบวนการสำหรับนำเข้า (4 ขั้นตอน) และส่งออก (3 ขั้นตอน) มีจุดตรวจหลัก 4 จุด ได้แก่ 1) ด่านชายแดนหลัก 2) บริษัท Lao ICD 3) บริษัท ALS Export-Import 4) สถานีรถไฟบ่อเต็น ซึ่งปริมาณตู้สินค้าผ่านทางรถไฟมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่เพิ่มจาก 17,242 ตู้ในปี 2566 เป็น 64,693 ตู้ในปี 2567 และ 44,290 ตู้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ทั้งนี้ ด่านสากลบ่อเต็นมุ่งมั่นในการเป็น “ด่านศุลกากรทันสมัย” (Smart Customs) โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายและยาเสพติด เช่น ระบบแจ้งภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (NSWA+) ระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management): ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจำแนกสินค้่าออกเป็น 3 ระดับ (ความเสี่ยงต่ำ, กลาง, สูง) ทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพและตรงจุด และเครื่องสแกนสินค้า (Scanner): สำหรับตรวจสอบสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง และเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือการเพิ่มความโปร่งใส รวดเร็ว และปลอดภัยในการผ่านแดน ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ควบคุมภาษีและพิธีการศุลกากรให้ถูกต้อง ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อรักษาความมั่นคงชายแดน และสนับสนุนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2568 ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ ได้ร่วมกันสัมมนาสรุปผลการศึกษาดูงานด้านมาตรการการป้องกันและปราบปรามในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวและเมืองมรดกโลก ร่วมกับ นายคณิศร ภาพีรนนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 ซึ่งอดีตดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านควบคุมยาเสพติดประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ จึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการประสานความร่วมมือด้านยาเสพติดกับ สปป.ลาว โดยร่วมกันสรุปสาระสำคัญจากการศึกษาดูงานด้านภารกิจการควบคุม สกัดกั้น และแก้ไขปัญหายาเสพติดของ สปป.ลาว กับประเทศไทย ที่มีความร่วมมือกันสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมถึงแนวเขตชายแดน และการบูรณาการร่วมกัน เช่น กรมพาสี(ศุลกากร) กระทรวงป้องกันความสงบ ที่มีความสำคัญในการแบ่งปันข้อมูลการข่าวด้านยาเสพติดและสารตั้งต้นระหว่างกัน การขยายผล และนำไปสู่การจับกุมตัวการในคดียาเสพติดรายสำคัญ เนื่องจากเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด จะปรับเปลี่ยนเพื่อหนีการสกัดกั้น การข่าวและความร่วมมือระหว่างพรมแดนเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันการลักลอบสิ่งเสพติด
ทั้งนี้ การสัมมนาได้ประเด็นที่น่าสนใจที่จะเกิดการพัฒนาด้านความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด เช่น การตรวจลายนิ้วมือแฝงที่ติดมากับหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ และการขนย้าย เพราะการค้ายาเสพติดมีลักษณะแบบองค์กรอาชญากรรม ต้องกระทำเป็นกระบวนการ เมื่อมีการจับกุม ลายนิ้วมือจะช่วยขยายผลในการจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดได้ แต่ในปัจจุบัน ฐานข้อมูลลายนิ้วมือยังไม่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร จึงมีความล่าช้าในการติดตามผู้กระทำผิด เป็นต้น