วันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกลไกการฟื้นฟูกิจการ: แนวปฏิบัติเพื่อการฟื้นตัวทางธุรกิจอย่างยั่งยืน (International Conference on Corporate Reorganization Mechanism: Best Practices for Sustainable Business Recovery) ผ่านระบบทางไกล zoom ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.45 น. โดยมี นายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวรายงาน นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต้อนรับ และพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงาน โดยสรุปสาระสำคัญว่าการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และเจ้าพนักงานบังคับคดีของประเทศไทยเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับการบังคับคดี และการพัฒนากลไกลเพื่อฟื้นฟูกิจการ จึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อลดความเหลื่อม ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการจึงมิใช่เพียงเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงบุคคลธรรมดาด้วย อีกทั้งยังเป็น “การให้โอกาสแทนการลงโทษ” ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณา
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้แบ่งหัวข้อการนำเสนอ 7 หัวข้อ ดังนี้
1. การนำเสนอ “การขับเคลื่อนกฎหมายฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”
2. การนำเสนอ “บทบาทของสถาบันการเงินในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ”
3. การอภิปรายแบบกลุ่ม “การปรับโครงสร้างธุรกิจของ SME กลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในบริบทประเทศภูมิภาคอาเซียน”
4. การนำเสนอ “บทบาทของศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ”
5. การนำเสนอ “บทบาทสำคัญของผู้เชี่ยวชาญด้านล้มละลายในการฟื้นฟูกิจการ”
6. การนําเสนอ “การฟื้นฟูกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พยากรณ์ผลลัพธ์ของการฟื้นฟูกิจการ”
7. การอภิปรายแบบกลุ่ม “ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคตของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ”
ในการนี้สำนักงานกิจการยุติธรรม จะรวบรวมองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระบบการบังคับคดีล้มละลาย และระบบกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการยุติธรรมต่อไป