สกธ. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

Picforweb 20

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 เวลา 13.30 น. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมี นายนรินทร์ คลังผา ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิปวีณาและสมาคมฟ้าสีรุ้ง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA308 อาคารรัฐสภา

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยนางสาวภคมน หนุนอนันต์ กับคณะโดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ดังนี้

1. สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่เป็นประเด็นในการพิจารณา ประกอบด้วย (1) การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” (2) การเพิ่มบทนิยามคำว่า “คุกคามทางเพศ” (3) การยกเลิกเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานอนาจาร (4) การเพิ่มฐานความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ (5) การเพิ่มวิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำสั่งงดเว้นการกระทำการ และ (6) การแก้ไขเพิ่มเติมความผิดลหุโทษตามมาตรา 397 เพื่อเพิ่มอัตราโทษ

2. การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการตีความ และความจำเป็นของการแก้ไขเพิ่มเติมรวมถึงอาจต้องพิจารณาให้ครอบคลุมถึงพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลายมากขึ้นประกอบด้วย

3. หากจะกำหนดให้การคุกคามทางเพศแยกออกจากการคุกคามทั่วไป จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อจำแนกความร้ายแรงของกรณีให้ชัดเจน และต้องกำหนดกรอบของการกระทำเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับพฤติกรรมของความผิดฐานอนาจาร

4. ควรพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญานี้ ให้สอดคล้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องของการมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และการกำหนดโทษทางอาญาให้ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำ

ในการนี้ ที่ประชุมได้เสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการเพิ่มเติม จำนวน 6 คน ซึ่งมีบุคลากรจากสำนักงานกิจการยุติธรรม จำนวน 2 คน ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม

101 Views