วันที่ 9 ม.ค. 61 เวลา 09.30 น. นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาสถานการณ์ปัญหาการขายฝากที่ไม่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุม ยธ.2 โดยมี ผอ.สกม. สป.ยธ. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ
ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายขายฝากในต่างประเทศ ข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายขายฝากว่าจะยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
1. คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ เห็นว่าไม่ควรยกเลิกกฎหมายขายฝากไปเสีย เนื่องจากยังเป็นแหล่งเงินทุนที่มีสภาพคล่องและเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจบางกลุ่มโดยเฉพาะภาค SMEs และธุรกิจ startup ต่างๆ
2. การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยอาจดำเนินการใน ปพพ. หรือ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องโดยที่ปัจจุบันมี พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2524 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกเอาเปรียบจากการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินเกษตรกรรม โดยอาจเพิ่มมาตรการพิเศษในเรื่องการขายฝากทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ อาทิ
* การตั้งศูนย์ควบคุม/ขึ้นทะเบียนผู้ซื้อฝากในการทำสัญญาขายฝากที่เพิ่มกลไกจากกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
* การแยกประเภทเกษตรกร
* การกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนขั้นต่ำแก่ทรัพย์บางประเภท และขยายเวลาให้นานขึ้นสำหรับทรัพย์ที่เป็นที่ดิน
* การลดค่าธรรมเนียมในการไถ่ทรัพย์
* การกำหนดหน่วยบริการในการวางทรัพย์เพื่อแก้ไขการบ่ายเบี่ยงไม่รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
* การกำหนดให้ราคาขายฝากควรจะต้องอิงกับราคาประเมินของกรมที่ดิน
3. คณะกรรมการฯ บางส่วน ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการมีกฎหมายขายฝาก เนื่องจากสถานการณ์เรื่องนี้ในปัจจุบันมีความร้อนแรงและเป็นช่องทางเอาเปรียบแก่ผู้ซื้อฝากอยู่มาก โดยเฉพาะการคิดดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเนื่องจากภาวะจำยอม หรือกลโกงการกู้ยืมเงินที่ใช้สัญญาขายฝากเป็นสัญญาแฝง
4. ความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการทางบริหารซึ่งอาจให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการอนุมัติเงินกู้หรือเงินทุน แต่ต้องมีมาตรการที่ลดทอนจำนวนพฤติกรรมการปล่อยเงินกู้ของนายทุนในท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ อาจใช้กลไกของกองทุนหมู่บ้านหรือการเงินชุมชนเป็นผู้ให้การช่วยเหลือเรื่องเงินทุนเบื้องต้นก็อาจเป็นการบรรเทาปัญหาอีกทางหนึ่ง
ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า
เบื้องต้นข้อมูลที่หารืออาจยังไม่เพียงพอต่อการยกร่างกฎหมาย ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ผลกระทบที่รอบด้านก่อนออกกฎหมาย (ม.77 แห่ง รธน.) ทั้งนี้ ได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ให้ตรวจสอบสภาพปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการขายฝากว่าการทำนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมหรือไม่ และพิจารณามิติในเรื่องดอกเบี้ยและการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา โดยวิเคราะห์สภาพการบังคับใช้กฎหมายและสภาพความเป็นจริงที่นายทุนใช้ช่องว่างของกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ดี หากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเป็นการเฉพาะ อาจแยกเรื่องขายฝากออกมาจัดทำเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้การคุ้มครองเกษตรกรทั้งระบบ โดยอาศัยกลไกของกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และนำหลักการที่ที่ประชุมมีข้อสังเกตมาบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. เพื่อลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่เกษตรกรจะเข้าสู่วงจรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ