วันที่ 10 มกราคม 2561 เวลา 9.00 น. ณ รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 1/2561 โดยมีนายวัลลภ นาคบัว ผอ.สกธ. เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม มีประเด็นการประชุม ดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบ คือ
ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ตำรวจกองประจำการ) โดยได้นำเสนอร่างดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 1-7 ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ กรรมการได้เห็นชอบในร่างดังกล่าว เนื่องจากไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 50 (5)
2. ประเด็นสำคัญในการพิจารณาของคณะกรรมการ คือ
ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ โดยได้มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ในประเด็นดังต่อไปนี้
– แก้ไขเพิ่มเติมให้ตำรวจภูธรจังหวัดสามารถดำเนินการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน หน่วยงานธุรกิจเอกชน ประชาชน และชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา
– แก้ไขเพิ่มเติมให้จเรตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่เกี่ยวกับการสนับสนุน กอ.ตร. การส่งเสริมและสอดส่องดูแลการรักษาประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ
– กำหนดให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานจเรตำรวจ และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีฐานะเป็นกองบัญชาการที่ได้รับการกระจายอำนาจแบบบูรณาการ และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจในการประกาศกำหนดให้กองบัญชาการใดเป็นกองบัญชาการที่ได้รับการกระจายอำนาจแบบบูรณาการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
– แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช. ให้เหมาะสม
– แก้ไขเพิ่มเติมให้มีหลักการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในกองบัญชาการที่ได้รับการกระจายอำนาจแบบบูรณาการ
– กำหนดให้มีการจัดตั้ง กอ.ตร. เป็นคณะกรรมการอิสระภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจและมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเรื่องร้องเรียนตำรวจ รวมทั้งให้มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของสำนักงานจเรตำรวจสนับสนุนการทำงานของ กอ.ตร.
ทั้งนี้ กรรมการได้มีข้อสังเกตในเรื่องถ้อยคำ “การกระจายอำนาจแบบบูรณาการ” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร อำนาจหน้าที่ของ กอ.ตร. ที่บัญญัติให้พิจารณาเรื่องร้องเรียน ไม่ควรรอเมื่อมีการร้องเรียนเท่านั้น แต่ควรให้หากพบเห็นสามารถดำเนินการได้ทันที นอกจากนี้ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กอ.ตร. ซึ่งมาจากการสรรหา ควรเพิ่มหลักเกณฑ์ว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม มีความกล้าหาญ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาสืบสวนสอบสวนในการดำเนินการของกรรมการ กอ.ตร. ด้วย เป็นต้น