วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.00 น. ณ รัฐสภา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 5/2561 โดยมีนายวัลลภ นาคบัว ผอ.สกธ. เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม มีประเด็นการประชุม ดังนี้
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอเรื่องเพื่อทราบ คือ คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นรายงานชี้แจงเกี่ยวกับการนำร่างกฎหมาย 3 ฉบับไปรับฟังความคิดเห็น
คณะอนุกรรมการฯ จะได้ดำเนินการนำร่างพรบ. 3 ฉบับ ไปรับฟังความคิดเห็น คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติอำนาจในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
แนวทางในการรับฟังความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง คือ
1. เปิดเวทีสัมมนารับฟัง ในวันอังคารที่ 20 ก.พ. 61 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา
2. แบบสอบถาม/สัมมนากลุ่มย่อย
3. การรับฟังแบบเปิดกว้างผ่านสื่อออนไลน์
ในการดำเนินการของคณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 3-22 ก.พ. 61 (อย่างน้อย 15 วัน) และในวันที่ 2 มี.ค. 61 จะส่งมอบรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นให้คณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่ฯ และคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายฯ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ต่อไป
2. ประเด็นสำคัญในการพิจารณาของคณะกรรมการ คือ ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพสถานีตำรวจ โดยมีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสถานีตำรวจ ดังนี้
2.1 ปัจจัยนำเข้า
2.1.1 โครงสร้างและการจัดอัตรากำลังพลเพื่อรองรับภารกิจของสถานีตำรวจ
2.1.2 การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานีตำรวจตามแนวทางการกระจายอำนาจแบบบูรณาการ
2.2 กระบวนการ
2.2.1 มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP)
2.2.2 การพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพภายใน
2.2.3 การพัฒนาบุคลากรในสถานีตำรวจ
2.2.4 การยกระดับให้เป็นสถานีตำรวจทันสมัยโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้
2.2.5 กลไกความร่วมมือและเครือข่ายตำรวจในระดับพื้นที่ตามโมเดลประชารัฐ โดยจัดให้มีคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัด และคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตำรวจระดับสถานี
2.2.6 ระบบการกำกับดูแลสถานีตำรวจ
มีข้อเสนอเพิ่มเติมให้ควรมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาระบบงานตำรวจเป็นหน่วยงานในระดับกองบัญชาการขึ้นในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2.3 ผลผลิตและผลลัพธ์ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานและวัดผลสัมฤทธิ์ของสถานีตำรวจ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ
ทั้งนี้ กรรมการได้ให้ข้อสังเกตเรื่องการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ว่าต้องมีความยืดหยุ่น และแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ต้องมีบุคคลที่คอยควบคุมตรวจสอบ และในการพัฒนาต้องให้มีความเชื่อมโยงกับอัยการและศาลด้วย ควรให้มีการทดลองการใช้ SOP ล่วงหน้าในแต่ละสถานีตำรวจ นอกจากนี้ การแบ่งสถานีตำรวจในแต่ละระดับ ควรให้มีการแบ่งจากปริมาณงานไม่ใช่ยึดกับตำแหน่ง และเน้นความพึงพอใจของประชาชนเป็นหลัก เป็นต้น