สกธ. เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการตรวจสอบผลคดีถึงที่สุดของกองทะเบียนประวัติอาชญากรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

Cover for Web 16

วันที่ 2 มีนาคม 2564 เวลา ณ ห้องประชุม 904 ชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ต.ท.ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผอ. สกธ. ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รอง ผอ.สกธ. เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการตรวจสอบผลคดีถึงที่สุดของกองทะเบียนประวัติอาชญากรกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายอดิศร   ร่มสนธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานในการประชุม

       สืบเนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นควรปรับปรุงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีหลักการดังต่อไปนี้ 

        (1) ควรกำหนดให้แยกทะเบียนที่ใช้จัดเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ออกจากทะเบียนที่ใช้จัดเก็บข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด

        (2) การเปิดเผยประวัติอาชญากรหรือข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ควรพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

        (3) ควรกำหนดข้อห้ามเปิดเผยข้อมูลการต้องหาคดีอาญา เว้นแต่เป็นกรณีที่จำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

        (4) ควรกำหนดวิธีการให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรสามารถตรวจสอบผลคดีถึงที่สุดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

         สกธ.ได้มีการชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

อธิบายถึงแนวทางของกฎหมาย Megan’s law ในเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้กระทำความผิดที่จะนำมาเสริมในร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนและจะได้นำร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (DXC) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมประสิทธิภาพในการบริหารงานยุติธรรม รวมถึงการเก็บข้อมูลสถิติเพื่อนำมาพิจารณาเรื่องอัตราการกระทำผิดซ้ำ 

ในหลักการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาตามข้อ (1)-(3) สอดรับกับหลักการในร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. …. โดยได้มีการชี้แจงรายละเอียดของการเปิดเผย ไม่เปิดเผยข้อมูลประวัติอาชญากรรม ประวัติอาชญากรรมที่ต้องเปิดเผยตลอด และนายทะเบียนที่มีอำนาจในการเปิดเผยประวัติอาชญากรรม

    ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้มีหนังสือไปยัง สกธ. โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการแยกทะเบียนที่ใช้จัดเก็บข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ออกจากทะเบียนที่ใช้จัดเก็บข้อมูลของจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และหากทาง สกธ.        มีการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อทราบด้วย

109 Views