สกธ.เข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษา กรณี การริดลอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

Cover for Web 41

วันที่ 25 มีนาคม 2564 เวลา 9.30 น. ณ รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา การปฏิรูป ทบทวนและแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษา กรณี การริดลอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน โดยมีนายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม สภาทนายความ  และสำนักงานอัยการสูงสุด โดยเรื่องเพื่อพิจารณา เป็นการขอรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในประเด็นการแก้ไขปรับปรุง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558”เพื่อแก้ไขปัญหาการริดลอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน สรุปได้ดังนี้

1. ที่ประชุมส่วนใหญ่มีข้อคิดเห็นว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 ซึ่งเปลี่ยนระบบการฎีกาในคดีแพ่งจากระบบสิทธิเป็นระบบอนุญาต เป็นระบบที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยการฎีกาที่ต้องผ่านการพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง และเห็นควรอนุญาตให้ฎีกา โดยองค์คณะผู้พิพากษา เป็นการใช้ดุลพินิจพิจารณาซึ่งอาจเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมขึ้นกับประชาชน  และในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง ประชาชนควรได้รับการพิพากษาให้ครบทั้งสามชั้นศาล ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ เพื่อต้องการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และให้การพิจารณาคดีมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  จึงควรต้องแก้ไขปัญหาที่ระบบการบริหารจัดการภายในของศาล ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ร่วมได้ โดยเห็นว่าระบบฎีกาแบบสิทธิที่ใช้อยู่เดิมเป็นระบบที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้มากกว่า

2. ที่ประชุมบางส่วนมีข้อคิดเห็นว่า การเปลี่ยนระบบการฎีกาในคดีแพ่งมาเป็นระบบอนุญาต จะช่วยกลั่นกรองและจำกัดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และช่วยแก้ปัญหาคดีล้นศาลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ อีกทั้งองค์คณะผู้พิพากษา ผู้พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง และเห็นควรอนุญาตให้ฎีกา เป็นบุคคลที่ประธานศาลฎีกาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย รองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคน ซึ่งจะทำให้การพิจารณาคดีของศาลฎีกามีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการฎีกาแบบระบบอนุญาต สอดคล้องกับหลักสากล โดยในหลายประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้ใช้ระบบนี้อยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการการศึกษา การปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย จะได้นำข้อมูลและข้อคิดเห็นจากหน่วยงานไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อไป

81 Views