สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

Cover For web 1 01 1

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 704 ชั้น 7 สํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม นางสาวสุพรรณี ประเสริฐทองกร และนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันประชุมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน
ที่ประชุมมีแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ดังนี้
1. (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2566 – 2569)
– สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 ต่อที่ประชุม โดยนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มิติที่ 1 การสร้างความเป็นธรรมตามกฎหมาย โดยสร้างความรู้และการตระหนักถึงความสําคัญของสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับอย่างเหมาะสมและทั่วถึง มิติที่ 2 การพัฒนากระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล โดยผลักดันให้มีกลไกหรือช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลาย ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติต่อผู้กระผิดบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน และผลักดันให้มีการกำหนดแนวทางการลงโทษต่อผู้กระทำผิดที่เหมาะสม และมิติที่ 3 การประสานความร่วมมือในการบริหารงานยุติธรรม โดยสร้างกลไกการทำงานในรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือ (Collaborative Network) ทั้งนี้ กสม. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนแม่บทฯ โดยให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การร้องเรียนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย การดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนต้องอาศัยสหวิชาชีพ ในการดำเนินการคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ ควรส่งเสริมให้มีพนักงานสอบสวนเพศหญิงร่วมดำเนินการ การทบทวนกฎหมาย และการใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุก
2.ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชน
– ปัญหาความล่าช้าในการสอบสวนคดีของผู้ต้องขังที่มีคดีอายัด กสม. ได้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กพยช. และสำนักงานศาลยุติธรรม อาทิ การประสานงานระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะโครงการพัฒนากระบวนการยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ National Single Window on Justice: NSWJ เร่งรัดให้มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศในกระบวนการยุติธรรม
– กระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร กสม. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนของผู้พ้นโทษ โดยมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนดังกล่าว
3. การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
– การพัฒนาบุคลากร โดยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในการเป็นวิทยากร การสนับสนุนการเข้ารับการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนและด้านกระบวนการยุติธรรม
– การเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแบ่งปันและส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และแก้ไขฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ให้เป็นปัจจุบัน โดย สกธ. ได้มีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม DXC เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล กลไกในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน และบูรณาการข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม ให้ใช้มาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศในแนวเดียวกัน
– การจัดทำสมัชชาสิทธิมนุษยชน โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ในการเชื่อมโยง ประสานแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป
95 Views