เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะกรรมาธิการ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ครั้งที่ 7 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานการประชุม
📍 การประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ เรียงลำดับมาตรา ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเริ่มจากร่างมาตรา 16 ในหมวด 2 คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
✏️ ร่างมาตรา 16 องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่ประชุมมีข้อสังเกตไว้ดังนี้
1) ความจำเป็นในการกำหนดให้มีคณะกรรมการตามร่างกฎหมาย จำนวน 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 8) และคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ (ร่างมาตรา 16)
2) ควรกำหนดให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
3) การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ควรเป็นผู้แทนในระดับกรม และยังมีความไม่ชัดเจนในการกำหนดระดับตำแหน่งของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ ซึ่งอาจรวมถึงบุคคลภายนอกได้ด้วย
4) ขาดความเชื่อมโยงในการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด
5) องค์ประกอบของคณะกรรมการตามร่างมาตรา 16 ไม่มีผู้แทนโดยตรงจากร่างมาตรา 8
6) การใช้มาตรการภายหลังพ้นโทษ เป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การแต่งตั้ง คณะกรรมการตามร่างมาตรา 16 จึงต้องมีความชัดเจน
7) ควรเพิ่มเติมผู้แทนจาก สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมเป็นกรรมการ
8) ควรยุบหมวด 1 คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมในการดำเนินการ และให้ความสำคัญกับคณะกรรมการตามร่างมาตรา 16 แทน
9) การกำหนดค่าเบี้ยประชุม
10) พิจารณาประกอบร่างมาตรา 24 ในการมีความเห็นของพนักงานอัยการ กรณีที่อาจไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการฯ และจะไม่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งใช้มาตรการตามร่างกฎหมาย โดยพิจารณาตามหลักถ่วงดุลอำนาจ และแนวปฏิบัติที่เหมาะสม
11) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ในหมวด 3 ตามร่างมาตรา 19 ถือเป็นมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ แต่ไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการฯตามร่างมาตรา 16 มีอำนาจในการกำหนดมาตรการดังกล่าว
🔺 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้รอการพิจารณาหมวด 2 (ร่างมาตรา 16-ร่างมาตรา 18) ไว้
✏️ ร่างมาตรา 19 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ได้แก่ มาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นๆที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด ที่ประชุมมีข้อสังเกตไว้ดังนี้
1) การกำหนดมาตรการทางการแพทย์ยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องขอบเขตการใช้บังคับ วิธีการรักษา แพทย์ที่ให้การรักษา และการให้ความยินยอม
2) พิจารณาประกอบร่างมาตรา 21 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้มาตรการทางการแพทย์ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง โดยไม่ต้องได้รับความเห็นขอบจากคณะกรรมการฯ ตามร่างมาตรา 8 ซึ่งแนวทางจะไม่ตรงกับร่างมาตรา 19 (2)
3) ควรแก้ไขเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการ มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพเนโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษได้ด้วย
4) เสนอให้มีการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างมาตรา 19 วรรคสอง (2) เป็น “มาตรการอื่นใดที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
🔺 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้รอการพิจารณาร่างมาตรา 19 และมอบหมายผู้แทนกระทรวงยุติธรรม พิจารณาเพิ่มเติมถ้อยคำตามร่างมาตรา 19 วรรคสอง (1) ให้เกิดความชัดเจน
📍 อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า เจตนารมณ์และความมุ่งหมายของกฎหมาย ยังเป็นแนวคิดและเรื่องที่ดีที่จะป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ สร้างความปลอดภัยให้สังคมและประชาชน และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิดทางเพศและความผิดรุนแรง ที่ควรได้รับการแก้ไขฟื้นฟู หรือหากป่วยก็ควรได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติที่เหมาะสม แต่ยังต้องพิจารณาการใช้ถ้อยคำและโครงสร้างกฎหมายให้มีความรอบคอบรัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาในทางปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ จะได้เร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในต้นเดือนมิถุนายน 2565 ต่อไป
🔜 นัดประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB411 อาคารรัฐสภา (โดยจะพิจารณาในร่างมาตรา 20 เรียงลำดับมาตรา)