ผ่านแล้ว! วุฒิสภาลงมติ ร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ

pic for web 7 14

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) วุฒิสภา ลงมติผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ เห็นด้วย 143 เสียง , ไม่เห็นด้วย ไม่มี , งดออกเสียง 2 เสียง , ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี ถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม สร้างความปลอดภัยให้สังคม แก้ไขปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะใช้บังคับโดยคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนหรือความสมดุลระหว่างการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิดกับความปลอดภัยของสังคม นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. เสร็จแล้ว จึงเสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันนี้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีมาตรการพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เน้นการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ในคดีเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง ได้แก่ มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
ที่รวมถึงมาตรการทางการแพทย์ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน

โดยร่างพระราชบัญญัติฯ มีทั้งหมด 43 มาตรา (แบ่งเป็น 7 หมวด และบทเฉพาะกาล) ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ มีการแก้ไขเพิ่มเติม 12 มาตรา สงวนความเห็น 5 มาตรา ไม่มีการแก้ไข 31 มาตรา และมีข้อสังเกตไว้ 4 ประเด็น มีรายละเอียดดังนี้

1. เห็นควรให้แก้ไขเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฯ โดยการจัดเรียง และแก้ไขถ้อยคำให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

2. เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฯ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น รัดกุม และเป็นธรรม

3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกำหนดแนวทางให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อทราบความเป็นมาแห่งชีวิตและความประพฤติอันเป็นอาจิณของผู้ต้องหาตามมาตรา 138 ของประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา

4. กระทรวงสาธารณะสุข ควรเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับภารกิจตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยเฉพาะ
ความพร้อมในการบำบัดและฟื้นฟูผู้กระทำความผิด

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 2 โดยเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ และพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราจนจบร่างแล้วลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบด้วยคะแนน 143 เสียง , ไม่เห็นด้วย ไม่มี , งดออกเสียง 2 เสียง , ไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบด้วย
กับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับไปดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ดี เนื่องจากวุฒิสภาได้มีมติแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ขั้นตอนต่อไป วุฒิสภาจะได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย ก็จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

131 Views