เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม 1 (JA1) สำนักงานกิจการยุติธรรม โดยวิธีประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม มีกรรมการ กพยช. จากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม และพ.ต.ท.ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นเลขานุการ พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รอง ผอ.สกธ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติสำคัญ ดังนี้
1. มอบหมายฝ่ายเลขานุการไปศึกษารายละเอียดมาตรการต่อผู้กระทำผิดอาญาแทนการควบคุมตัวโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรสหวิชาชีพและชุมชน (Non – Custodial Measures) และปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการให้มีความเหมาะสม
2. เห็นชอบให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมถึงเห็นชอบแนวทางการเผยแพร่สื่อด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ โดยมีข้อสังเกตให้สภาทนายความ เนติบัณฑิตยสภา และสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้เพิ่มขึ้น
3. เห็นชอบให้สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565
4. เห็นชอบให้มีการจัดตั้งหน่วยบริหารทุนวิจัย (PMU) ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนกรอบการวิจัยเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 – 2569 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรมไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษาและขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์ค้างการขายทอดตลาด และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
6. เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษาและขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาการรับรองเอกสารในประเทศไทย (โนตารีปับลิก) และการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
7. รับทราบและเห็นชอบรายงานประจำปีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมการประสานและพัฒนาระบบงานยุติธรรม ในการกำกับดูแลคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงนโยบายระดับประเทศ และระดับพื้นที่ รวมถึงขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ