วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2568 นายนิทัศน์ แสงวัฒนะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วย นางสาวอรวรรณ ปานคง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นำคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่16 (ยธส.16) ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย โดยเข้ารับฟังการบรรยายในหัวข้อ “การบริหารราชการเมืองอัจฉริยะ ศูนย์กลางการลงทุน และการท่องเที่ยวในอนุภาคลุ่มน้ำโขง” โดย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ณ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ได้บรรยายถึงข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน และมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GDP) สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภาค และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากถึง 94,544 บาท จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย ทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การศึกษา และการบริการ โดยมีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี แนวโน้มการพัฒนาในอนาคต คือ การเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2569 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 3.6 ล้านคน สามารถเพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงานได้ประมาณ 36,000 ล้านบาท เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ดึงดูดการลงทุนในด้านการเกษตร เทคโนโลยีสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดอุดรธานีมีศักยภาพให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามนโนบายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ Soft Power ของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับนานาชาติ
และช่วงบ่าย นำคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรมศึกษาดูงาน ณ เรือนจำกลางอุดรธานี โดยมี นายมงคล จันทะจร ผู้บัญชาการเรือนจำกลางอุดรธานี ให้การต้อนรับ และบรรยายหัวข้อ “การบริหารเรือนจำ และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย” ซึ่งการบริหารงานเรือนจำ ไม่ได้จำกัดเพียงการควบคุมผู้ต้องขังเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการฟื้นฟูพฤตินิสัย การพัฒนาองค์ความรู้ และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยสู่สังคม เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ และสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังสามารถกลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม แนวทางการบริหารเรือนจำสอดคล้องกับนโยบายของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเน้น “การขับเคลื่อน 8 มิติ ยกระดับสร้างความเปลี่ยนแปลง” โดยการเตรียมผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษใช้กระบวนการประเมินรายบุคคลเพื่อวางแผนเชิงรุก โดยคำนึงถึงสภาพจิตใจ ทักษะ ความเสี่ยง และเป้าหมายชีวิต พร้อมทั้งประสานกับครอบครัวและชุมชน อาทิ การจับคู่กับพี่เลี้ยง การฝึกงาน และการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ เช่น ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นต้น
วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. การสัมมนาภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน โดยมี นางสาววรรณา ผู้อุตส่าห์ นายด่านศุลกากรหนองคาย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรหนองคาย ได้พูดถึงภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. จัดเก็บภาษีอากร 2. อำนวยความสะดวกการค้า 3. ปกป้องสังคม โดยเฉพาะการปราบปรามยาเสพติด 4. ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยสำนักงานศุลกากรหนองคาย ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนโดยเฉพาะที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย–ลาว ได้นำเทคโนโลยีมาใช้หลายระดับ (เอ็กซ์เรย์, สุนัข, เครื่องเคมีพกพา) กับมาตรการการฝึกอบรม ขยายผลข้อมูลและความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งแสดงผลจับกุมยาทั้งยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน เคตามีน และยาอี ได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความเข้มงวดตามนโยบาย “ไม่ให้ไทยเป็นทางผ่านยาเสพติด”