สำนักงานกิจการยุติธรรมได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 32

1

.
พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยคณะผู้แทนสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 32 (The 32nd Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในฐานะองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นหัวหน้าคณะ
.
การประชุม CCPCJ สมัยที่ 32 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในรูปแบบผสม (Hybrid Format) ภายใต้หัวข้อหลัก “Enhancing the functioning of the criminal justice system to ensure access to justice and to realize a safe and secure society” (การยกระดับกลไกการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อรับประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และสร้างความตระหนักถึงสังคมที่ปลอดภัยและมั่นคง) เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา รวมถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง
.
ในการนี้ พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้แทนไทย จำนวน 2 หัวข้อ โดยเป็นการบันทึกวิดีทัศน์ถ้อยแถลงล่วงหน้า ดังนี้
(1) การกล่าวถ้อยแถลงในระเบียบวาระที่ 5 Thematic discussion on enhancing the functioning of the criminal justice system to ensure access to justice and to realize a safe and secure society เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคม การให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ทางด้านกฎหมายให้แก่ประชาชน ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16
(2) การกล่าวถ้อยแถลงในระเบียบวาระที่ 6 (d) Other crime prevention and criminal justice matters เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 โดยกล่าวถึงความสำคัญของการลดความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม รวมทั้งการลดการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งประเทศไทยได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคม
.
นอกจากนี้ คณะผู้แทนสำนักงานกิจการยุติธรรม ยังได้เข้าร่วมการเจรจาร่างข้อมติต่างๆ โดยมีร่างข้อมติที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานกิจการยุติธรรม จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่
(1) ร่างข้อมติ เรื่อง Reducing reoffending through rehabilitation and reintegration เสนอโดยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเน้นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติหามาตรการหรือแนวทางในการลดการกระทำผิดซ้ำผ่านการพัฒนาพฤตินิสัยเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้สามารถกลับคืนสู่สังคมและเป็นคนดีได้
(2) ร่างข้อมติ เรื่อง Follow-up to the Fourteenth United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice and preparations for the Fifteenth United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice เสนอโดยประเทศญี่ปุ่นและประธานการประชุม โดยเป็นการติดตามผลการดำเนินงานตามปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Declaration) อันเป็นผลจากการประชุม UN Crime Congress ครั้งที่ 14 และการเตรียมการด้านสารัตถะสำหรับการประชุม UN Crime Congress ครั้งที่ 15 ในปี ค.ศ. 2026
(3) ร่างข้อมติ เรื่อง Enhancing the contributions of the Commission on Crime Prevention and Criminal Justice to the accelerated implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development เสนอโดยประเทศกาน่า ซึ่งได้ร้องขอให้ CCPCJ มีบทบาทหรือเป็นกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 16 ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้ได้ภายในปี 2030
(4) ร่างข้อมติ เรื่อง Achieving equal access to justice for all through – and in – criminal justice systems เสนอโดยประเทศแคนาดา ที่มุ่งเน้นให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในประเทศในมิติต่างๆ มีความสอดคล้องตามอนุสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศ และส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม

98 Views