วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 9.30 น.พันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานการประชุมพิจารณาผลกระทบจากกรณีคดีการสลายการชุมนุมเหตุการณ์ตากใบที่ขาดอายุความ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ โดยวิธีการประชุมทางไกลผ่านระบบ Cisco Webex Meetings มีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชุมได้มีประเด็นการพิจารณา ดังนี้
(1) มาตรการด้านกฎหมาย เห็นว่ากรณีเหตุการณ์ตากใบไม่เข้าข่าย 4 ฐานความผิด ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2541 และยังคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอายุความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งเห็นควรต้องเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ให้หน่วยงานดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างความเข้าใจกับสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นอกจากนี้ ในการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และกฎหมายพิเศษอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีกฎหมายกลางที่ใช้บังคับในทุกพื้นที่ และต้องปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่และสถานการณ์ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรงเรียบร้อยแล้ว
(2) มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ที่ประชุมเห็นว่าปัจจุบันหลายหน่วยงาน เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการให้การชดเชยและจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตอยู่แล้ว โดยมีการชดใช้ตามกฎหมายมติคณะรัฐมนตรี และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการเยียวยาทางจิตใจให้แก่ผู้เสียหายด้วยเช่นกัน
(3) การแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้และการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ ที่ประชุมเห็นว่าข้อเสนอที่กล่าวมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการในทุกภาคส่วนอยู่แล้ว รวมทั้งได้มีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องในระดับวาระแห่งชาติ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้ต่างประเทศมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ดี โดยมีการหารือทุกฝ่ายให้เข้าใจร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง คุ้มครองคนดีและสุจริต และปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างมีมาตรฐานตามหลักสากล