ร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. ….
เสนอโดย คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.)
ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. …. มีหลักการและเหตุผลว่าด้วยการกำหนดให้ “คดีอาญาที่ลักษณะของการกระทำเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงซึ่งผู้ต้องหาอาจกลับตนเป็นคนดีได้ และผู้เสียหายอาจได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควรในโอกาสแรก เพื่อให้ผู้ต้องหามีโอกาสแสดงความรับผิดชอบในการกระทำและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำนั้นเสียแต่ในขั้นแรก และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เสียหายอย่างแท้จริง อันจะเป็นการนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างคู่กรณี และในคดีบางลักษณะหากมีการชะลอการฟ้องและนำวิธีการคุมประพฤติมาใช้ เพื่อให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสแก้ไขความผิดของตนโดยไม่มีมลทินติดตัวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และสังคม มากกว่าการดำเนินการให้มีการพิจารณาลงโทษ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมจึงสมควรนำมาตรการการชะลอการฟ้องดังกล่าวมาใช้แทนการฟ้องคดีอาญา ทำให้คดีอาญาดังกล่าวระงับลง”
ร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. …. มีสาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดให้มีมาตรการชะลอการฟ้องในคดีความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว คดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือคดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ต้องหาไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือได้พ้นโทษมาแล้วเกินห้าปี หรือผู้ต้องหาไม่เคยได้รับการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษมาก่อน เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นระยะเวลารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษมาแล้วเกินห้าปี โดยหากเป็นคดีที่ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายให้มีการชะลอการฟ้อง เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่ปรากฏผู้เสียหาย และผู้ต้องหาต้องรับว่าได้กระทำการตามข้อเท็จจริงที่ถูกกล่าวหาและยินยอมให้มีการชะลอการฟ้อง โดยให้อำนาจพนักงานอัยการเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่งชะลอการฟ้อง และคำสั่งดังกล่าวต้องรายงานให้ศาลทราบด้วย ซึ่งมาตรการคุมประพฤติเมื่อมีคำสั่งชะลอการฟ้องแล้ว เช่น ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติหรืออาสาสมัครคุมประพฤติเป็นครั้งคราว เพื่อบุคคลดังกล่าวจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควร ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ และจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและผู้ต้องหาเห็นสมควร เป็นต้นโดยหากผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติหรือเงื่อนไขอื่นครบถ้วน ก็จะมีคำสั่งยุติการดำเนินคดี ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีจำนวน ๒๑ มาตรา แบ่งเป็น ๒ หมวด และ ๑ บทเฉพาะกาล ได้แก่
หมวด ๑ การชะลอการฟ้อง
ส่วนที่ ๑ บททั่วไป
ส่วนที่ ๒ คำสั่งชะลอการฟ้อง
ส่วนที่ ๓ ผลของคำสั่งชะลอการฟ้อง
หมวด ๒ มาตรการการชะลอการฟ้องที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร
บทเฉพาะกาล
ไฟล์แนบ :
๑. ร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. … (Download)
๒. หลักการและเหตุผล และสรุปสาระสำคัญ (Download)
ประกาศ : วิธีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. ….