วันที่ 1 เมษายน 2565 เวลา 09.30 น. ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting พ.ต.ท.ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 13 หน่วยงาน ได้แก่ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรมกิจการเด็กและเยาวชน) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานศาลยุติธรรม ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สํานักงานอัยการสูงสุด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (กองทะเบียนประวัติอาชญากร) สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม (กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน) โดยการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็น และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สรุปได้ 4 ประเด็นสำคัญ และมีรายละเอียดแต่ละประเด็น ดังนี้
1. ประเด็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย : การส่งตัวเด็กที่อาจได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติฯ ,การพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก และวิธีการสําหรับเด็กตามประมวลกฎหมายอาญา , การจัดทําบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก และภาคประชาสังคม , กระบวนการส่งตัวเด็กให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก โดยพนักงานสอบสวน ,ประวัติการกระทําความผิดทางอาญาของเด็ก
2. ประเด็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : แนวทางหรือกระบวนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประกาศใช้กฎหมาย
3. ประเด็นการติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย : การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจ
ร่างพระราชบัญญัติฯ
4. ประเด็นการส่งเสริมการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและการแก้ไขฟื้นฟูเด็กที่เหมาะสม : แนวทางที่เหมาะสมในการบําบัด ฟื้นฟู และคุ้มครองเด็กแต่ละราย , การพิจารณาออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจัดให้มีสถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนําทางจิตในรูปแบบของเอกชน , การมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน สังคม ในการป้องกันการกระทําความผิดของเด็ก , มาตรการหรือกลไกเฝ้าระวังในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และป้องกันการกระทําความผิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ , ให้นําเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ ไปในโอกาสอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ สกธ. จะได้ประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปจัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จัดส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป